ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการค้นหาพลังงานที่ยั่งยืนกลายเป็นประเด็นสำคัญ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กลายเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกัน EV ยังมีศักยภาพที่น่าสนใจในการทำหน้าที่เป็น “แบตเตอรี่เคลื่อนที่” หรือ Vehicle-to-Grid (V2G) เป็นแหล่งพลังงานสำรองให้กับบ้านและชุมชน ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าที่สะสมในแบตเตอรี่กลับมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นในช่วงไฟฟ้าดับหรือในช่วงที่ต้องการพลังงานสูง
เทคโนโลยี Vehicle-to-Grid (V2G) คืออะไร?
V2G คือระบบที่ช่วยให้ยานยนต์ไฟฟ้าชาร์จไฟจากโครงข่ายไฟฟ้าและส่งพลังงานกลับสู่ Grid เมื่อจำเป็น โดยใช้เทคโนโลยีการชาร์จไฟสองทิศทาง (Bi-directional Charging) ทำให้ EV ทำหน้าที่เป็นแหล่งสำรองพลังงานสำหรับระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพการจ่ายไฟ ในช่วงที่ระบบไฟฟ้ามีความต้องการใช้สูง หรือในกรณีฉุกเฉิน เช่น ไฟฟ้าดับ นอกจากนี้ยังนำมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในบ้านได้ เนื่องจากสามารถดึงพลังงานจากแบตเตอรี่ EV มาใช้แทนการดึงพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) ในช่วงที่ค่าไฟแพงได้
การใช้ V2G ในระดับสากล
ในหลายประเทศได้เริ่มทดลองและใช้งานเทคโนโลยี Vehicle-to-Grid (V2G) และ Vehicle-to-Home (V2H) เพื่อเสริมความยืดหยุ่นด้านพลังงานและลดค่าไฟฟ้า โดยมีการใช้ EV เป็นแหล่งพลังงานสำรองในหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ซึ่งต่างก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และชุมชนในประเทศ
- ประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้าน V2G โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิปี 2011 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีแหล่งพลังงานสำรองเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน บริษัท Nissan ได้ร่วมมือกับ Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ในโครงการ “Leaf to Home” ที่ใช้รถยนต์ Nissan Leaf เป็นแหล่งพลังงานสำรองสำหรับบ้านและชุมชน อีกทั้งยังมีการทดลอง V2G กับชุมชน โดยให้เจ้าของบ้านที่มีรถ EV สามารถส่งพลังงานกลับสู่ระบบ Grid ในกรณีที่มีความต้องการพลังงานสูง ญี่ปุ่น ยังได้พัฒนามาตรฐานการชาร์จแบบ CHAdeMO ที่ชาร์จไฟได้เร็ว และรองรับการใช้งาน V2G อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ EV สามารถรับและจ่ายพลังงานกลับไปยัง Grid ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ประเทศออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีความนิยมติดตั้งแผงโซลาร์ในครัวเรือน และได้เริ่มนำ V2H มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นด้านพลังงาน โดยบริษัท Nissan และ Wallbox ได้ทำการทดลองเครื่องชาร์จ Quasar ซึ่งเป็นเครื่องชาร์จสองทิศทางที่สามารถจ่ายพลังงานจากแบตเตอรี่ของรถ EV ให้กับบ้านได้ เจ้าของบ้านในออสเตรเลียสามารถใช้แบตเตอรี่ EV เป็นแหล่งพลังงานสำรองควบคู่กับพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ช่วยลดค่าไฟและเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่น่าสนับสนุนให้มีการนำมาใช้กับประเทศไทยในอนาคต
ก้าวแรกของไทยกับ V2G
เทคโนโลยี V2G กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการบริหารจัดการพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวสู่การใช้งานเทคโนโลยีนี้ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ริเริ่มโครงการสำคัญเพื่อทดสอบและศึกษาความเป็นไปได้ของ V2G ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV เป็นแหล่งพลังงานสำรองที่จะช่วยเสริมความเสถียรของระบบไฟฟ้าไทย
โครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว โดยในระยะแรกมีการทดลองกับรถ Nissan LEAF ซึ่งรองรับการชาร์จไฟสองทิศทาง เพื่อทดสอบการนำพลังงานจากแบตเตอรี่รถยนต์กลับมาใช้ภายในบ้าน โดยมี บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด บริษัทในเครือของ กฟผ. เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์และทดสอบระบบที่ใช้ควบคุมการดึงไฟฟ้ากลับจากรถยนต์ไฟฟ้า EV สู่ระบบGrid เพื่อพัฒนาให้ V2G นำมาใช้ในประเทศไทยได้ ซึ่งหากการทดสอบนี้ประสบความสำเร็จ ในขั้นถัดไประบบจะถูกขยายให้เชื่อมต่อกับ Grid ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อใช้รถยนต์ EV จำนวนมากเป็นแบตเตอรี่สำรองที่รองรับการใช้งานระดับหมู่บ้าน ชุมชน หรือไปสู่ระดับประเทศได้ในอนาคต
นอกจากนี้ อินโนพาวเวอร์ ยังเป็นผู้จำหน่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้า Quasar จาก Wallbox ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะระดับโลก เป็นอุปกรณ์ชาร์จสองทิศทางที่ใช้ในการทดสอบในโครงการดังกล่าวนี้ด้วย
อนาคตของ V2G ในไทย
การนำเทคโนโลยี V2G มาใช้ในประเทศไทยจะมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบพลังงานที่ยั่งยืนและมีความเสถียรสูง ช่วยกระจายภาระการจ่ายไฟฟ้า ไปยังผู้ใช้รายย่อย ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและเสถียรมากขึ้น โรงไฟฟ้าหลักไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิตแบบฉับพลัน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการสึกหรอของเครื่องจักร พร้อมสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น เพราะพลังงานจาก EV สามารถชดเชยช่วงที่แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม หรือแสงอาทิตย์ ไม่สามารถผลิตไฟได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าในระยะยาว การใช้ V2G อย่างแพร่หลายจะช่วยลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าสำรอง ทำให้โครงสร้างพลังงานของประเทศมีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่อนาคตที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ และก้าวทันโลกมากขึ้น ทั้งนี้เทคโนโลยี V2G ได้เริ่มมีการใช้งานจริงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อได้รับการสนับสนุนและพัฒนาต่อไป แนวทางดังกล่าวจะทำให้กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบพลังงานแห่งชาติ ที่ช่วยเสริมความมั่นคงของพลังงานไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
อ่านฉบับเต็มได้ที่: